เต่าร้างแดง ๒

Wallichia marianneae Hodel

ปาล์มขึ้นเป็นกอขนาดเล็ก ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน แต่ละต้นมีใบประกอบ ๔-๑๐ ใบ แต่ละใบประกอบมีใบย่อย ๑๐-๒๐ ใบ เรียงสลับไม่เป็นระเบียบ รูปแถบถึงรูปใบหอก ใบย่อยบริเวณช่วงกลางของช่อใบยาวที่สุด กาบใบมีขอบเป็นเส้นใยสีดำสานกันเป็นร่างแห ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลดหรือช่อแยกแขนงที่มีช่อแขนงย่อยแบบช่อเชิงลด ออกตามซอกกาบใบ ช่อดอกออกจากยอดสู่โคนต้นแล้วต้นตาย มีใบประดับขนาดเล็กจำนวนมาก ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีถึงทรงรูปไข่ สุกสีแดงถึงสีม่วง มียอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล มีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด

เต่าร้างแดงชนิดนี้เป็นปาล์มขึ้นเป็นกอ สูงได้ถึง ๑.๖ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ๔-๑๐ ซม. เกลี้ยงหรือมีกาบใบเก่ารวมโคนก้านใบติดตามลำต้น มีขนสั้นนุ่มและเกล็ดสีน้ำตาลเทาถึงสีน้ำตาลแดงหนาแน่นเกือบทั่วไป

 ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน ยาว ๑.๘-๓ ม. แต่ละต้นมีใบประกอบ ๔-๑๐ ใบ แต่ละใบประกอบมีใบย่อย ๑๐-๒๐ ใบ เรียงสลับไม่เป็นระเบียบ รูปแถบถึงรูปใบหอก ยาวได้ถึง ๘๐ ซม. ปลายแหว่งไม่เป็นระเบียบ โคนสอบเรียว ขอบเรียบ ใบย่อยบริเวณช่วงกลางของช่อใบยาวที่สุด แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนหนาแน่นและมีเกล็ดสีน้ำตาลประปราย เส้นกลางใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบจากโคนใบจำนวนมาก ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ม. เป็นร่องทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง ไร้ก้านใบย่อย กาบใบยาว ๓๐-๗๕ ซม. ขอบเป็นเส้นใยสีดำสานกันเป็นร่างแห

 ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลดหรือช่อแยกแขนง ๑ ครั้ง ช่อดอกออกจากยอดสู่โคนต้นแล้วต้นตาย ปลายมักห้อยลง ช่อแขนงย่อยแบบช่อเชิงลด ยาว ๑๐-๒๐ ซม. มีใบประดับขนาดเล็กจำนวนมาก เรียงเวียน มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ ๓ กลีบ ช่อดอกเพศผู้ออกทางด้านข้างของลำต้นตามซอกกาบใบ มีได้ถึง ๑๐ ช่อ แต่ละช่อดอกยาวได้ถึง ๒๐ ซม. กลุ่มดอกเรียงเวียน ประกอบด้วยดอกเพศผู้ออกเดี่ยวหรือมี ๒ ดอก มีดอกเพศเมียที่เป็นหมันอยู่ตรงกลาง ดอกเพศผู้ยาวได้ถึง ๖ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายตัด กลีบดอกแยกเป็นอิสระ รูปขอบขนาน เรียงจดกันในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๑๖-๑๙ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน อับเรณูรูปแถบ แตกตามยาว ไม่มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ช่อดอกเพศเมียออกที่ยอด ยาวได้ถึง ๑๑ ซม. ประกอบด้วยดอกเพศเมียเรียงเวียน ดอกยาวประมาณ ๓ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก เรียงซ้อนเหลื่อม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก เรียงจดกันในดอกตูม ไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวยคว่ำ

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีถึงทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ผลอ่อนสีเขียว สุกสีแดงถึงสีม่วง ผิวเรียบ มียอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล ผนังผลชั้นกลางมีเนื้อ มีผลึกรูปเข็มที่ทำให้ผิวหนังแสบคัน มีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด

 เต่าร้างแดงชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ ตามป่าดิบระดับต่ำใกล้ลำธาร ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐๐-๖๐๐ ม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เต่าร้างแดง ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Wallichia marianneae Hodel
ชื่อสกุล
Wallichia
คำระบุชนิด
marianneae
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hodel, Donald R.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (fl. 1985)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง